ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการผ่านแดนและข้ามแดน หรือ BPI (Border Performance Index) นำมาใช้เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพการผ่านแดนและข้ามแดนของแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย โดย BPI ใช้แนวคิดการพัฒนาดัชนีมาจากดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index: LPI)
BPI เป็นการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามที่ได้พัฒนาขึ้นมาจากตัวชี้วัดการประเมินประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Indicators: TFIs) และตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ จากนั้นจึงนำแบบสอบถามไปใช้เก็บข้อมูลความเห็นจากผู้ตอบที่มาจากทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามแดนและผ่านแดน ได้แก่ หน่วยงานศุลกากร, หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง, หน่วยงานกักกัน สัตว์ พืช อาหารและยา และหน่วยงานสาธารณสุข) รวมถึงภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการการอำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามแดนและผ่านแดน ได้แก่ บริษัทเทรดเดอร์, บริษัทขนส่งสินค้า พนักงานขับรถขนส่งสินค้า และตัวแทนออกของรับอนุญาต
ผลจากแบบสอบถามนำมาคำนวณเป็นคะแนนรวมประสิทธิภาพโลจิสติกส์ของพื้นที่ และ คะแนนประสิทธิภาพโลจิสติกส์แต่ละมิติของระบบโลจิสติกส์ (Logistics System) ที่ประกอบด้วย มิติด้านโครงสร้างพื้นฐาน มิติด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง มิติด้านผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และมิติด้านเจ้าของสินค้า และเมื่อได้คะแนนเหล่านี้แล้วจึงจัดอันดับพื้นที่เรียงตามคะแนนมากไปน้อยและแบ่งกลุ่มพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ Higher performer (2) Consistent performer และ (3) Partial performer โดยแต่ละกลุ่มมีความหมายดังต่อไปนี้
(1) Higher performer คือ กลุ่มพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ทั้งในด้านการดำเนินการพิธีศุลกากร, ด้านคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานรองรับการค้าและการขนส่ง, ด้านความสามารถและคุณภาพของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และด้านประสิทธิภาพการดำเนินงานของเจ้าของสินค้า ที่อยู่ในระดับสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุก ๆ พื้นที่
(2) Consistent performer คือ กลุ่มพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ทั้งในด้านการดำเนินการพิธีศุลกากร, ด้านคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานรองรับการค้าและการขนส่ง, ด้านความสามารถและคุณภาพของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และด้านประสิทธิภาพการดำเนินงานของเจ้าของสินค้า ที่อยู่ในระดับที่ดีกว่าพื้นที่อื่น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับทุก ๆ พื้นที่
(3) Partial performer คือกลุ่มพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ทั้งในด้านการดำเนินการพิธีศุลกากร, ด้านคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานรองรับการค้าและการขนส่ง, ด้านความสามารถและคุณภาพของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และด้านประสิทธิภาพการดำเนินงานของเจ้าของสินค้า ที่อยู่ในระดับกลางเมื่อเปรียบเทียบกับทุก ๆ พื้นที่