ความเป็นมา

     ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน เหมาะกับการพัฒนาเป็นศูนย์กลางแหล่งผลิตและกระจายสินค้าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจทำให้การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมาสถานการณ์การพัฒนาพื้นที่เมืองชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนที่มีมูลค่าสูง จากกลุ่มทุนนานาประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ทิศทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนสำคัญ

     ปัจจุบันในการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของประเทศไทย จะมีการขนส่งผ่านเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับบริเวณพื้นที่ทั้ง 5 ภาค ได้แก่ 1. บริเวณภาคใต้ ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับ 2 ประเทศ คือ ประเทศมาเลเซีย และประเทศเมียนมา 2. บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับ สปป.ลาว และ ประเทศกัมพูชา 3. บริเวณภาคเหนือซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับ ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว 4. บริเวณภาคตะวันออกซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับ ประเทศกัมพูชา 5. บริเวณภาคตะวันตกจะเกี่ยวข้องกับประเทศเมียนมา

1) เพื่อสำรวจข้อมูล ข้อเท็จจริง ปัญหาอุปสรรค และข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าและการบริหารจัดการ โลจิสติกส์บริเวณพื้นที่ชายแดนที่สำคัญของประเทศ อาทิ พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) และพื้นที่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งสถานการณ์การพัฒนาบริเวณพื้นที่ด่านชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน

2) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัย แนวโน้ม และบริบทการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าและการบริหารจัดการโลจิสติกส์บริเวณพื้นที่ชายแดน

3) เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า รวมทั้งการบริหารจัดการบริเวณชายแดนของประเทศไทยที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทการพัฒนาในแต่ละพื้นที่และพัฒนาแนวทางการติดตามประเมินผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของประเทศไทย
     แนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าบริเวณพื้นที่ด่านชายแดนที่สำคัญของประเทศไทยที่มีความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานและติดตามประเมินผลการพัฒนาร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนการศึกษา

ภาพรวมพื้นที่และการคัดเลือกพื้นที่ศักยภาพ



ปัจจุบันประเทศไทยมีด่านชายแดนและประตูการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมี 29 จังหวัดที่มีจุดผ่านแดน รวมทั้งสิ้น 90 แห่ง โดยเป็นจุดผ่านแดนถาวรจำนวน 34 แห่ง จุดผ่อนปรนการค้า 54 แห่ง และจุดผ่านแดนชั่วคราวจำนวน 2 แห่ง



ในการศึกษาครั้งนี้เพื่อให้ได้แนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพจะได้มีการคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อศึกษาในเชิงลึกแนวทางการพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้นำแนวคิดการตัดสินใจแบบพิจารณาหลายเกณฑ์ MCDM ซึ่งในที่นี้ได้ใช้ 4 เกณฑ์ ในการพิจารณา

      1) ด้านโลจิสติกส์ เป็นการพิจารณาถึงความได้เปรียบทั้งในด้านการเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตสินค้าและแหล่งปลายทางการขนส่ง รวมถึงเป็นทางผ่านหรือเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายการขนส่งสินค้า การมีความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก
      2) ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่ง เป็นการพิจารณาถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อความสะดวกต่อกิจกรรมด้านโลจิสติกส์
      3) สภาพแวดล้อมในการดำเนินการ เป็นการที่พิจารณาถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ องค์กรส่วนท้องถิ่น และภาคธุรกิจในการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ให้กับพื้นที่
      4) สภาพแวดล้อมทางนโยบายและระดับเศรษฐกิจ เป็นการที่พิจารณาถึงการที่มีภาครัฐหรือหน่วยงานของพื้นที่มีโครงการต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อได้พื้นที่ที่มีศักยภาพแล้วจะได้มีการศึกษา สำรวจ วิเคราะห์เชิงลึกเพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในภาพรวมได้อย่างบูรณาการ จะได้นำกรอบแนวคิด PESTLE+M มาใช้วิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน รวมถึงความเชื่อมของโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำเสนอกรอบแนวทางและกำหนดนโยบายการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า รวมทั้งการบริหารจัดการบริเวณชายแดนของประเทศไทยให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน

พื้นที่การดำเนินโครงการ



พื้นที่ศึกษาในการดำเนินการสำหรับแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของประเทศไทย จะเกี่ยวข้องหลักในส่วนพื้นที่บริเวณจังหวัดชายแดนจังหวัด 31 จังหวัด ที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยรวมแนวเขตพื้นที่ทางบกประมาณ 5,656 กม. ประกอบด้วยบริเวณที่ติดต่อกับประเทศต่าง ๆ

      - กัมพูชา - ระยะทาง ประมาณ 798 กม. จังหวัดชายแดน 7 จังหวัด
      - ลาว - ระยะทางประมาณ 1,810 กม. จังหวัด ชายแดน 12 จังหวัด
      - พม่า - ระยะทางประมาณ 2,401 กม. จังหวัด ชายแดน 10 จังหวัด
      - มาเลเซีย - ระยะทางประมาณ 647 กม. จังหวัดชายแดน 4 จังหวัด

ประเด็นสำคัญ

การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของประเทศไทยจะเป็นการยกระดับโครงข่ายการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เกิดความเชื่อมโยงระหว่างเมืองสำคัญในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน

การสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจุดผ่านแดน

การพัฒนาจุดผ่านแดน (Border Crossing Point) ในการประสานความร่วมมือกันระหว่างประเทศชายแดนตรงส่วนบริเวณที่มีถนนหลักเชื่อมต่อกัน การบริหารด่านชายแดนร่วมกัน, ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One-stop Border Post), การบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน, การแบ่งปันผลประโยชน์

การสร้างความร่วมมือด้านการประเมินความเสี่ยงของสินค้านำเข้า - ส่งออก และการเดินทางข้ามแดน

การพัฒนาระบบเฉพาะเพื่อไปเสริมประสิทธิภาพการบริหารจุดผ่านแดน การตรวจสอบการข้ามแดน, การแบ่งปันข้อมูล, การพัฒนา ศูนย์วิเคราะห์ร่วม (Single Joint Analysis Centre), และวิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกัน

การสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบข้อมูลร่วมกัน


ตรวจสอบประเมินความเสี่ยงและและกำหนดวิธีปฏิบัติในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วมกันการพัฒนา Single Transaction Record, การลงทุนสร้าง Databank และศูนย์วิเคราะห์ร่วม
  



การจัดการลงทุนพัฒนาชายแดน

การจัดหาเงินทุนเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจุดผ่านแดน ทั้งแหล่งเงินทุนของประเทศที่ทำความตกลงร่วมมือกัน และ แหล่งเงินทุนจากภายนอก

การพัฒนาพื้นที่รอบบริเวณชายแดน

การพัฒนาพื้นที่รอบชายแดนที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณรอบชายแดน

การสร้างความร่วมมือด้านการประเมินความเสี่ยง


ประเมินความเสี่ยงของการหยุดชะงักจากปัจจัยภายนอก อาทิ โรคระบาด ภัยพิบัติ การก่อการร้าย และสงคราม
  

การส่งเสริมการให้บริการโลจิสติกส์


การส่งเสริมให้เกิดการให้บริการโลจิสติกส์ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าชายแดน พัฒนาประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านการเปิดพื้นที่เขตประกอบการเสรี และสนับสนุนผู้ประกอบการโลจิสติกส์